BenzSociety ศูนย์รวมพลคนรัก Benz

                                  www.benzsociety.com
 
HomeBenz ShoppingBenzSociety ShowBenz Option ClassifiedsWebboardOffice
Import CarsShow RoomCar Service •  Wheels & Tires  •  Car stereoHome/CondoGolf Society Benz TravelEntertainment
          » เทคนิคคนรักรถ » สารพัน....


  สารพัน.ยางรถยนต์... ควรรู้
    [ 26/02/2009 ] - [ 3019 ]
 

สารพันยางรถยนต์


1. รัน - อินต้องมีการรัน-อิน ยางใหม่ก็เช่นกันในช่วง 100 - 200 กิโลเมตรแรก ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 80 - 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้โครงสร้างแก้มยาง และหน้ายางมีการปรับตัว เพราะยางทุกเส้น ถูกผลิตออกมาให้รับกับมุมแคมเบอร์ของล้อเท่ากับ 0 คือตั้งฉากกับพื้น แต่รถยนต์ทุกคันไม่ได้มีมุมแคมเบอร์เท่ากับ 0 มีทั้งแบะหรือหุบ ในช่วงแรกจึงต้องใช้เวลาให้หน้ายางสึกปรับตัวรับกับศูนย์ล้อ


2. ถ่วงล้อยางต้องหมุนนับพันรอบต่อนาที โดยเฉพาะล้อคู่หน้าที่มีการเลี้ยงด้วยจึงต้องมีการถ่วงสมดุล เพราะถ้าล้อคู่หน้าไมได้สมดุล มักมีอาการพวงมาลัยสั่นในบางช่วงความเร็ว และทำให้ลูกปืนล้อหรือช่วงล่างมีอายุการใช้งานสั้นลงด้วย เมื่อเปลี่ยนยางใหม่ หรือถอดยางออกจากระทะล้อ เพื่อสลับยางหรือเปลี่ยนยาง ต้องมีการถ่วงสมดุลใหม่เสมอ เมื่อใช้งานไปสัก 40 - 50 % ของอายุการใช้งานยาง ควรถอดมาถ่วงสมดุล เพราะการสึกหรออาจไม่สม่ำเสมอกัน ถ้าใช้วิธีถอดกระทะล้อออกมาถ่วงสมดุล แล้วยังมีอาการสั่นของพวงมาลัยบางช่วงความเร็ว ต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีถ่วงแบบจี้ คือ ไม่ต้องถอดล้อออกจากรถยนต์เป็นการถ่วงสมดุลกระทะล้อ , ยาง , จานดิสก์เบรก , เพลาขับ , ลูกปืนล้อ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง แต่โดยทั่วไป การถอดล้ออกมาถ่วงภายนอกก็เพียงพอแล้ว


3. ลมยางแรงดันลมมาตรฐานของยางรถยนต์ทุกรุ่นส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 28 - 32 ปอนด์/ตารางนิ้ว (PSI) สำหรับรถยนต์นั่ง การวัดแรงดันลมยาง ต้องใช้มาตรฐานที่ได้มาตรฐานและวัดตอนที่ยางเย็นหรือร้อนไม่มาก หากละเลยการตรวจสอบลมยาง มักเกิดปัญหาแรงดันลมน้อย - ยางอ่อน ทำให้แก้มยางมีการบิดตัวมากและร้อนง่าย สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น และอัตราเร่งลดลง จากแรงต้านการหมุนที่เพิ่มขึ้น และหากลมยางอ่อนมากๆ จะทำให้โครงสร้างภายในเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และมีการสึกหรอบริเวณนอกซ้าย - ขวา ของหน้ายางมากกว่าแนวกลาง บางคนอาจจะคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเติมยางเกินไว้น่าจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องตรวจสอบบ่อยๆ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะแรงดันลมยางที่มากเกินไปทำให้ประสิทธิภาพการเกาะถนนลดลง จากหน้าสัมผัสที่ลดลง กระด้าง และถ้าลมยางแข็งมากๆ จะเสี่ยงต่อการระเบิด และมีการสึกหรอบริเวณแนวกลางมากกว่าริมนอกซ้าย-ขวา
เดินทางไกล ควรเติมแรงดันลมยางแข็งกว่าปกติ 2 - 3 ปอนด์/ตารางนิ้ว เพื่อป้องกันยางร้อนมาก หรือแรงดันลมสูงเกินไปจนระเบิด อาจตรงข้ามกับความคิดผิดๆที่ว่า เมื่อเดินทางไกลยางหมุนด้วยความเร็วสูงและต่อเนื่อง ยางน่าจะร้อนและมีแรงดันลมเพิ่มขึ้น จากหลักการของก๊าซ อากาศร้อนจะขยายตัว ทำให้แรงดันลมเพิ่ม จึงคิดว่าน่าจะลดแรงดันลมลงจากปกติ ซึ่งผิด เพราะหากมีการลดแรงดันยางลงในขณะที่เดินทางไกล ยางจะกลับร้อนและมีแรงดันสูงมาก เพราะแก้มยางจะบิดตัวมากจนร้อน และทำให้แรงดันลมสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว วิธีที่ถูกต้อง คือ เพิ่มแรงดันลมขึ้น 2 - 3 ปอนด์ เพื่อป้องกันการเปิดตัวของแก้มยางมากจนร้อน เป็นการป้องกันล่วงหน้า เช่น ยางที่มีแรงดันลม 32 ปอนด์ มากกว่าปกติ 2 ปอนด์ เมื่อเดินทางไกลอาจจะมีแรงดันลมเพิ่มขึ้นจากความร้อนเพียง 2 ปอนด์ แต่ถ้าแรงดันลมเหลือ 28 ปอนด์ ยางจะบิดตัวมากและร้อนมากกว่าอาจมีแรงดันลมเพิ่มขึ้นถึง 5 - 6 ปอนด์ และก็เป็นลมที่มีความร้อนสูงกว่าการเติมลมแรงดันสูงเผื่อไว้


4. สลับยางทุก 10,000 กิโลเมตร ควรสลับยางพร้อมกระทะล้อหน้า - หลังในแต่ละด้าน เพื่อให้มีการสึกหรอใกล้เคียงกันทั้ง 4 เส้น เพราะยางคู่ที่ใส่กับล้อขับเคลื่อนจะมีการสึกหรอมากกว่ายางอีกคู่หนึ่ง อย่าลืมดูทิศทางการหมุนและถ่วงล้อใหม่ด้วย แนวทางการสลับยาง และระยะทางที่เหมาะสม มักทีกำหนดในคู่มือประจำรถยนต์ ถ้าไม่สลับยางแล้วมีการสึกหรอไม่เท่ากัน หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนยางครั้งละคู่หรือ 2 ล้อ เพราะทำให้ต้องเปลี่ยนสลับครั้งละคู่ไปเรื่อยๆเสียเวลาและไม่ถูกต้อง ในการเปลี่ยนยาง ไม่ควรใช้ยางต่างรุ่นดอกกันในแกนล้อเดียวกันเพราะประสิทธิภาพการเกาะถนนจะแย่ลง ควรใช้ยางขนาดเดียวกันและรุ่นเดียวกันทั้ง 4 ล้อ


5. หมั่นตรวจสอบการสึกหรอของดอกยางนอกจากตรวจสอบความลึกของดอกยางและสลับตามระยะทางแล้ว ยังควรหมั่นสังเกตการสึกหรอที่ผิดปกติตลอดหน้ายาง ซึ่งมีหลายลักษณะ ถ้าหน้ายางสึกเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่าศูนย์ล้อผิดปกติ แต่ถ้ามีการสึกไม่เรียบเสมอกันตลอดหน้ายาง หรือสึกเป็นบั้งๆอาจเกิดจากระบบช่วงล่างควรรีบแก้ไข เพราะมีผลต่ออาการทรงตัวของรถด้วย


6. หมดสภาพยางหมดอายุได้ในหลายลักษณะหลัก เช่น ดอกหมด , ไม่เกาะ , เนื้อแข็ง , โครงสร้างกระด้าง , แตกปริ , แตกลายงา , เสียงดัง หรือแก้มยางบวม เกิดขึ้นเพียงลักษณะเดียวหรือควบคู่กันก็ถือว่าหมดอายุ ไม่จำเป็นต้องดอกหมดแล้วยางถึงจะหมดสภาพเสมอไป เพราะความลึกของดอกยางเกี่ยวข้องกับการรีดน้ำ ฝุ่น และโคลนเป็นหลัก ส่วนประสิทธิภาพการเกาะถนนและการทรงตัว ขึ้นอยู่กับความแข็งของเนื้อยางและโครงสร้างภายใน


ยางรถยนต์ส่วนใหญ่จะเริ่มแข็งตัวขึ้นทีละนิด แต่จะรู้สึกได้ชัดเจนเมื่อผ่านการใช้งานไประยะหนึ่ง (ประมาณ 1 ปีหรือ 20,000 กิโลเมตร) ตามพื้นฐานของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางที่แพ้ความร้อน เมื่อเนื้อยางแข็ง ดอกยางก็ไม่ค่อยสึก แต่แรงเสียดทานระหว่างหน้ายางกับผิวถนนจะลดลง หากเปรียบเทียบอัตราการสึกของดอกยางต่อระยะทาง แทบไม่มียางรุ่นไหนที่ดอกสึกเร็วขึ้นเมื่อผ่านการใช้งานไปแล้ว ส่วนใหญ่มักจะสึกช้าลงหรือแทบไม่สึกเลยเมื่อเนื้อยางแข็งกระด้างเต็มที่

ทดสอบง่ายๆโดยใช้เล็บจิกลงบนเนื้อของหน้ายางเก่า เปรียบเทียบกับยางใหม่ๆเนื้อยางเก่ามักแทบจิกไม่ลง อายุการใช้งานของยางสำหรับเมืองไทย เฉลี่ยประมาณ 3 ปี หรือ 50,000 - 60,000 กิโลเมตร ก็ถือว่ายางเสื่อมสภาพแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและลักษณะการใช้งาน ถ้าใช้งานเกินระยะทางข้างต้น ควรพิจารณาอย่างละเอียดว่าสภาพของยางดีหรือไม่ เพราะพบว่ายางรถยนต์หลายรุ่นสามารถใช้งานได้นานกว่านั้น ควรหลีกเลี่ยงยางเก่าเก็บ เพราะจะทำให้ระยะเวลาในการใช้ยางสั้นลงไปอีก


ข้อควรระวัง
1. ไม่จอดทิ้งไว้นาน รถยนต์ที่ใช้งานน้อย จอดนิ่งอยู่กับที่น้ำหนักของตัวรถทั้งหมดจะกดลงสู่ยางแต่ละเส้นในจุดเดียว โครงสร้างภายในและแก้มยางจะมีการยืดตัวและเสียความหยืดหยุ่น ยิ่งจอดนิ่งนานๆโครงสร้างของยางยิ่งมีโอกาสเสียง่ายขึ้น ถ้าต้องจอดนานมากทุก 1 สัปดาห์ต้องสตาร์ทเครื่องและนำรถออกไปแล่นอย่างน้อย 2 - 3 กิโลเมตร หรือเดินหน้าถอยหลัง 5 - 10 เมตรหลายๆครั้ง เพื่อให้แก้มยางและโครงสร้างของยางมีการขยับตัว
2. น้ำยาเคลือบ เป็นเรื่องปกติที่คนไทยที่รักสวยรักงาม น้ำยาเคลือบแก้มยางเพื่อเพิ่มความสวยงาม น้ำยาบางชนิดมีฤทธิ์ต่อเนื้อยาง ทำให้บวมหรือเปื่อยในระยะยาว ควรเป็นสารประเภทซิลิโคนจะปลอดภัยกว่า

ชื่อผู้ส่งบทความ คุณ แจ๊ค         ที่มา : http://www.one2car.com/

                                 การปะซ่อมยาง

 ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือจักรยานยนต์ก็ตาม เกือบทั้งหมดคงจะเคยประสบเหตุการณ์ยางรั่ว กันมาแล้วแทบทั้งนั้นนะครับ ผมจึงมีเทคนิคการปะยางเล็กๆ น้อยๆ มาฝากเพื่อนๆ กัน เผื่ออยากจะทำเองขึ้นมาบ้างและเครื่องมือพร้อม จะได้ไม่ต้องไปจ่ายค่าปะยางให้กับร้านไงครับ
ในเทคนิคที่ผมจะเล่าให้ฟังนี้ เป็นเทคนิคที่ใช้กับยางรถยนต์แบบเรเดียลนะครับ ซึ่งหลักการก็คล้ายๆ กับยางมอเตอร์ไซค์แบบ Tubeless เผื่อเพื่อนๆ คนไหนที่ใช้รถยนต์อยู่ด้วยก็สามารถนำไปใช้ได้นะครับ เรามาเริ่มเลยดีกว่า

การปะซ่อมยางนั้น มีหลักการและวิธีการต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะความเสียหายที่ได้รับและประเภทของโครงยาง หากการปะซ่อมยางกระทำอย่างไม่ถูกต้องแล้ว ก็จะทำให้เกิดปัญหาเมื่อนำกลับมาใช้งานได้ ดังเช่น ในกรณีที่ใช้ยางเรเดียลเสริมเส้นลวดเหล็กกล้าถูกตะปูตำทะลุโครงยาง เมื่อนำยางไปปะซ่อมตามร้านทั่วๆ ไป โดยปกติจะทำการซ่อมได้ด้วยอุปกรณ์ที่มีอยู่ตามวิธีการเดิมๆ ที่เคยใช้เป็นปกติ มิได้คำนึงถึงโครงสร้างยางว่าเป็นยางประเภทใด เนื่องจากช่างซ่อมส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างยาง ซึ่งมีความแตกต่างกันและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็อาจจะ เป็นแบบที่ไม่เหมาะสมกับโครงสร้างยาง


ในกรณีนี้ หากช่างใช้วิธีปะซ่อมแบบยางเรเดียล tubeless ธรรมดา ซึ่งโครงสร้างยางเป็นผ้าใบ วิธีการคือ นำยางในมาตัดเป็นเส้นเล็กๆ จากนั้นก็ทาน้ำยาที่รูบาดแผลให้ทั่ว จากนั้นก็นำยางเส้นเล็กๆ ที่ตัดไว้มาอุดที่รูบาดแผลให้เต็ม ทิ้งไว้ 5 นาที จากนั้นก็นำยางมาประกอบกับกระทะล้อ แล้วก็สูบลมตามอัตราที่กำหนด (แต่บางร้าน พี่แกเล่นสูบซะอยู่ได้เป็นปี ซึ่งเมื่อนำมาใช้ควรทำการตรวจวัดความดันลมยางก่อน ถ้ามากเกินไปก็ควรปล่อยลมให้พอดี) เป็นอันเสร็จพิธี ในวิธีที่กล่าวมานี้ ถ้าเป็นยางเรเดียลธรรมดา ก็ยังสามารถใช้งานต่อไปได้ ถ้าไม่เกิดการรั่วซึมตามมาภายหลังจากแผลที่ปะไว้
แต่ถ้ายางที่นำมาปะซ่อมนั้น เป็นยางเรเดียลเส้นลวดเสริมเหล็กกล้า ซึ่งมีเข็มขัดรัดหน้ายางเป็นเส้นลวด เมื่อถูกตะปูตำ เส้นลวดที่ทำหน้าที่เป็นเข็มขัดรัดหน้ายางอาจจะขาดได้ ถ้านำไปปะซ่อมตามวิธีที่กล่าวมาข้างต้น เส้นลวดที่ขาดอาจจะไปเสียดสีกับยางเส้นเล็กๆ ที่นำมาอุดรูรั่ว จนขาด และอาจจะเกิดการรั่วซึม เมื่อนำไปใช้งานได้ ดังนั้น การปะซ่อมยางรถยนต์แบบเสริมเหล็กกล้า จึงควรตรวจดูลักษณะบาดแผล เพื่อตัดสินว่า " ซ่อมได้ หรือซ่อมไม่ได้ "



การซ่อมยาง
การตรวจดูลักษณะบาดแผลเพื่อตัดสินใจว่า " ซ่อมได้หรือไม่ได้ "

- ในกรณีที่ถูกของมีคมตำทะลุบริเวณหน้ายาง ซึ่งบาดแผลมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 0.6 ซม. ก็สามารถทำการปะซ่อมได้ โดยวิธีการดังนี้

- นำยางประกอบเข้ากับเครื่องจับยึดยาง
- ตรวจหาบาดแผลและดึงวัสดุที่ตำยาง และทำเครื่องหมายกำกับไว้ทั้งภายในและภายนอก
- ตรวจสอบการบวมล่อนของยางทั้งเส้นโดยละเอียด
- ใช้ไขควงสว่าน เบอร์ 915 เสียบไปที่บาดาแผลบริเวณหน้ายาง เพื่อตรวจดูทิศทางของบาดแผล ในกรณีถูกตำทะลุในแนวเฉียงไม่เกิน 15 องศา ให้ใช้วิธีปะซ่อมแบบใช้แท่งยางกลมแบบ 1 ชิ้น
- ใช้สว่านเบอร์ 271 เจาะรูบาดแผล พร้อมทั้งเตรียมแท่งยางเบอร์ 251 เอาไว้
- ใช้ไขควงสว่านเบอร์ 915 จุ่มน้ำยาเชื่อเนื้อยาง เบอร์ 760 แล้วแทงเข้าไปในแผลแล้วหมุนไปตามเข็มนาฬิกา ให้ตลอดทั้งรูแผล จึงหมุนออกโดยหมุนในทิศทางตามเข็มนาฬิกาเช่นเดิม

- นำแท่งยางเบอร์ 251 ลอดแผ่นพลาสติกสีฟ้าออก บีบหัวแท่งยางด้านหนึ่งให้แบน เพื่อยัดเข้าไปในรูปของแท่งเหล็ก และดึงแท่งยางให้อยู่ระหว่างจุดกึ่งกลาง ทาน้ำยาเชื่อมยางเบอร์ 760 ให้ทั่วทั้งแท่งยาง จากนั้น นำแท่งเหล็กนี้แทงลงไปในรูบาดแผล ให้เหลือปลายของแท่งยางโผล่ยื่นออกมาประมาณ 1 ซม. ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที ใช้มีดบางๆ ตัดเนื้อยางส่วนเกินบริเวณด้านหน้ายาง ให้เหลือยื่นโผล่ออกมาซักเล็กน้อย โดยใช้มือจับแท่งยางส่วนเกินเอาไว้เบาๆ ในขณะตัดห้ามดึงแท่งยาง ต่อจากนั้นจึงนำยางไปประกอบกับกระทะล้อ แล้วจึงสูบลมตามมาตรฐานที่กำหนด พร้อมทั้งประกอบล้อเข้ากับตัวรถดังเดิม ก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ
สำหรับยางรถสามารถทการปะซ่อมได้ทุกจุดบริเวณหน้ายาง ยกเว้น ในกรณีถูกบาดบริเวณไหล่ยางและบริเวณแก้มยางไม่ควรทำการปะซ่อมยาง ขอแนะนำว่าให้เปลี่ยนยางเส้นใหม่เลยเพื่อความปลอดภัย
ในกรณีที่ยางรถถูกของมีคมบาดหรือทะลุ มีบาดแผลเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่กว่า 0.6 ซม. อาจจะใช้แท่งยาง 2 แท่งรวมกัน หรือใช้แท่งยาง ( STEM ) ของอุปกรณ์ปะแบบ 1 ชิ้น ลักษณะคล้ายดอดเห็ดทำการปะซ่อม ก็สามารถนำยางไปใช้งานได้ต่อไป
การปะซ่อมยางเรเดียล ช่างประจำร้านควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับลักษณะโครงสร้างยางให้ถ่องแท้ ว่ายางประเภทนี้เป็นแบบเรเดียลผ้าใบธรรมดา หรือเป็นยางเรเดียลเสริมเส้นลวดเหล็กกล้า เพื่อป้องกันความผิดพลาดในวิธีการปะซ่อมยาง แต่ในบางครั้ง การปะซ่อมยางแบบ tubeless อาจจะต้องเปลี่ยนสภาพมาเป็นยางแบบต้องใช้ยางในก็มี ดังนั้น เมื่อยางรถของท่านเกิดปัญหาถูกของมีคมบาดหรือตำทะลุ ท่านควรใช้ดุลพินิจเลือกร้านที่เป็นขาประจำเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของท่าน ส่วนเพื่อนๆ ผู้ใช้รถ ถ้ามีความชำนาญ และมีเครื่องมือพร้อม ก็อาจจะทำเองได้ แต่ถ้าท่านไม่มั่นใจในฝีมือของท่าน แนะนำว่า เข้าร้านดีกว่าครับ เพราะมันไม่คุ้มกับชีวิตของท่านที่จะต้องเสี่ยงกับมันเลย

ที่มา www.thaimocy.com

 
[ ส่งหน้านี้ให้เพื่อน ]                          
 


  รายการบทความ
สารพัน.ยางรถยนต์... ควรรู้ ..
ทำอย่างไร..เมื่อต้องขายรถตัวเอง ..
10 สัญญาณเตือนภัยของรถคุณ ..
ยางระเบิด ..ปัญหาร้ายแรงที่สุดขณะขับรถ ..
การดูแลรักษาเครื่องยนต์..ระยะเวลา/ระยะทาง ..
เกร็ดความรู้เ....มื่อขับรถยนต์ลุยน้ำ ..
ความรู้เรื่อง ...น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ..
เกร็ดความรู้น้ำมันเครื่อง... เรื่องมาตรฐานน้ำมันเครื่อง ..
ความรู้เรื่อง ..น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ..
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ...รถควันดำ ..
การทำงานของ...แบตเตอร์รี่ ..
เกร็ดความรู้...เกียวกับน้ำมันเครื่อง ..
การขับรถยนต์ให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ..
ภัยที่เกิดขึ้นจากขวดนำดื่มในรถ ..
การดูแลรักษารถกับการเตรียมพร้อมเมื่อเข้า...ฤดูฝน ..
ดูทั้งหมด »