BenzSociety ศูนย์รวมพลคนรัก Benz

                                  www.benzsociety.com
 
HomeBenz ShoppingBenzSociety ShowBenz Option ClassifiedsWebboardOffice
Import CarsShow RoomCar Service •  Wheels & Tires  •  Car stereoHome/CondoGolf Society Benz TravelEntertainment
          » ความเป็นมาของ Benz » ประวัต...


  ประวัติ Mercedes Benz
    [ 4/03/2009 ] - [ 11609 ]
 

ประวัติ Mercedes Benz

Mercedes benz

 ทำไมถึงเลือกชื่อนี้ ? "Mercedes"
เป็นชื่อลูกสาวคนโปรดของนาย เอมิล เยลลิเน็ก นาย Emil Jellinek นักธุรกิจใน Vienna นักธุรกิจชาวออสเตรีย ผู้ซึ่งคลั่งไคล้การแข่งรถและเชื่อมั่นว่ารถยนต์จะเป็นสิ่งสำคัญในอนาคต และได้เข้ามาถือหุ้นในกิจการของ Daimler Motor และมีบทบาทในการผลักดันให้ Daimler ผลิตรถยนต์ที่มีสมรรถนะสูงในยุคนั้น และแล้วในปี 1900 ก็ได้ผลิตรถยนต์สี่สูบออกมาได้สำเร็จและตั้งชื่อตามลูกสาวของ Emil Jellinek ว่า Mercedes Benz ตั้งแต่นั้นมา

นาย เอมิล เยลลิเน็กออกใบสั่งให้โรงงานผลิตรถรุ่น 35PS จำนวน 36 คัน โดยมีข้อแม้ว่าต้องผลิตให้เสร็จ ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 1900 และให้ตั้งชื่อรถรุ่นนี้ว่า Mercedes ซึ่งแปลว่าสวยงาม ในภาษาสเปน
นาย เอมิล เยลลิเน็ก ผู้ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการเปิดตลาดรถยนต์เดมเลอร์ในนาม "Mercedes" สู่ยุโรป ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่เล็งเห็นว่าประสิทธิภาพและสมรรถนะของรถสามารถจะพัฒนาให้ดีได้มากกว่าที่เป็นอยู่ จึงพยายามผลักดันให้ บริษัทเดมเลอร์ พัฒนารถให้ดีขึ้นตามคุณลักษณะที่ต้องการ
ในปี ค.ศ. 1900 รถยนต์ที่ดีที่สุดคันนั้นจึงได้ผลิตออกมา นายเอมิลเยลลิเน็ก จึงออกใบสั่งรถกับบริษัทเดมเลอร์ทีเดียวถึง 36 คัน โดยมีเงื่อนไขว่าให้ตั้งชื่อรถรุ่นนี้ว่า "Mercedes" ตามชื่อลูกสาวคนโปรดของเขา แล้วรถยนต์ "Mercedes" สามารถติดตลาดรถระดับสูงในทันที ด้วยประสิทธิภาพและสมรรถนะที่ดีเลิศ บริษัทเดมเลอร์จึงนำชื่อ "Mercedes" นี้ไปใช้ในรถทุก ๆ รุ่นที่ผลิตออกขายต่อไป
และเป็นเวลากว่าศตวรรษ หลังจากการประดิษฐ์รถยนต์คันแรกของโลกเมื่อปี ค.ศ.1886 แต่ความมุ่งมาดปรารถนาที่จะสร้างสรรค์เพียงรถยนต์ที่ดีที่สุดก็ยังยืนยงอยู่

แม้ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับเบนซ์เต็มตัว แต่นามสกุลของเธอทำให้ตกอยู่ในฐานะ 'ทายาทคนสุดท้ายของตระกูลเบนซ์' และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งยนตรกรรมที่หรูหราคลาสสิกแบรนด์หนึ่งของโลก เธอมีความสุขกับการใช้ชีวิตที่อาจไม่ได้ใกล้ชิด แต่ก็ไม่ได้ห่างเหิน ไม่ได้คลุกคลีแต่ก็ผูกพันกับความเป็นเบนซ์

จูธา เบนซ์ (Jutta Benz) เป็นแขกสุดพิเศษที่ได้รับเชิญสำหรับงานนิทรรศการ The Shining Siver Star ผู้หญิงคนนี้มาพร้อมกับรถเบนซ์คลาสสิก 6 คัน ที่นำมาจากพิพิธภัณฑ์เบนซ์ที่เยอรมนี หนึ่งคันในนั้นคือรถยนต์คันแรกของโลก ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1886 โดย กอตต์ลีบ เดมเลอร์ (Gottlieb Daimler) และ คาร์ล เบนซ์ (Karl Benz) ทวดของจูธา แน่นอนว่ามันเป็นเบนซ์คันแรกของโลกด้วย มันมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า 'สามล้อ' (แต่มีคนแอบกระซิบว่า มันมีชื่อจริงภาษาเยอรมันที่แปลว่า เมีย)

นับเป็นนิทรรศการ 'คลาสสิก เมอร์เซเดส เบนซ์' ที่เกิดขึ้นครั้งแรกและอาจเป็นครั้งสุดท้ายในไทย สำหรับงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 26 ที่ไบเทค บางนา

ด้วยความที่ จูธา เป็นคนตระกูลเบนซ์ เธอก็คงเป็นคนที่น่าจะพูดถึงเบนซ์ได้น่าฟังกว่าใคร นั่นทำให้เธอกลายมาเป็นทูตของเบนซ์โดยปริยาย สำหรับงานนี้เป็นหนึ่งในแคมเปญออกทัวร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเธอ ที่แรกคือ สิงคโปร์ และไทยคือลำดับต่อมา

"ฉันรู้ว่าทุกคนคาดหวังกับฉันในฐานะผู้สืบทอดของ คาร์ล เบนซ์ เมื่อเขาไม่สามารถมาในงานนี้ได้ นับแต่เขาเสียไปในปี 1929 ฉันจึงต้องทำหน้าที่แทนในการนำเสนอความเป็นเบนซ์"

จูธาเล่าถึงชีวิตที่เยอรมนีว่า เธอเพิ่งเกษียณจากอาชีพครูสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส และประวัติศาสตร์ สำหรับเด็กๆ อายุประมาณ 16-20 ปี รวมทั้งงานสอนเด็กพิการ

"ฉันมีความสุขตลอดเวลาที่ได้สอนหนังสือ ฉันรักงานที่ฉันทำ สอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ บางอย่างอาจเล็กๆ น้อยๆ แต่อาจทำให้ใครหลายคนเกิดไอเดีย เกิดแรงบันดาลใจ ฉันอยากสอนให้พวกเขาคิดเป็น ทำเป็น สอนให้เขารู้จักมองไปข้างหน้า มองสิ่งที่เขาอยากทำจริงๆ"

และการเป็นครู ก็คือ สิ่งที่จูธาอยากทำจริงๆ แทนที่จะสืบสานกิจการเบนซ์ จูธาเล่าว่า ตอนแรกก็ไม่ได้คิดที่จะเป็นครู ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซํ้าว่าอยากเป็นอะไร รู้เพียงว่าชอบเรียนวิชาฝรั่งเศส ชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ พอถึงช่วงที่ต้องไปฝึกงานดูงานตามบริษัทต่างๆ เกี่ยวกับการเป็นครู ทำให้เธอประทับใจ และอยากจะเป็นครู ที่จริงแล้วนับจากคาร์ล เบนซ์ ทวดของเธอออกจากบริษัทแล้ว ความสัมพันธ์กับรถเบนซ์และตระกูลของเธอก็เริ่มห่างกันออกมา จนมาถึงรุ่นพ่อของเธอจึงได้กลับมาร่วมงานกับเบนซ์อีกครั้ง

"มันเป็นเงื่อนไขเวลา ตอนนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวเบนซ์แยกออกมาจากบริษัทเบนซ์แล้ว หลังจากที่คาร์ลตาย ความสัมพันธ์กับบริษัทเบนซ์ ก็ไม่ได้ใกล้ชิดเหมือนเดิม พอมาถึงรุ่นพ่อของฉันจึงได้เข้ามาอีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นฉันยังเด็กมาก ฉันไม่ได้อยากเป็นวิศวกรหรือทำงานด้านเทคนิค ฉันไม่ได้เรียนอะไรเกี่ยวกับรถหรือเทคโนโลยี ฉันมีความอยากเหมือนคนทั่วไป อยากเรียนสิ่งที่ฉันชอบ ที่จริงพ่อของฉันก็อยากให้เป็นวิศวกร แต่ฉันก็เป็นผู้หญิง ไม่ได้เหมาะที่จะทำงานแบบนั้นอยู่แล้ว ที่สุดพ่อก็โอเค ทุกคนโอเคไม่ได้ว่าอะไร อนุญาตให้ไปเลือกเรียนสิ่งที่ฉันชอบ"

ถึงแม้จะไม่ได้เรียนมากับเครื่องยนต์กลไก ไม่ได้ทำงานกับรถเบนซ์ แต่จูธาก็มีความผูกพันมากับรถตั้งแต่เด็ก

"ตอนที่คุณพ่อจะเสีย ท่านก็ได้ขอร้องว่า ถึงยังไงก็อยากให้สืบทอดแบรนด์นี้ต่อไป" นั่นคือสิ่งที่ จูธา กำลังทำตอนนี้

จูธาบอกว่า หลังแต่งงาน ชื่อกลางของเธอยังคงเป็น เบนซ์ เวลาที่เห็นโลโก้เบนซ์ เธอจะนึกไปถึงความเปลี่ยนแปลง พัฒนาต่างๆ ที่เกิดกับเบนซ์ เมื่อก่อนโลโก้เบนซ์ไม่ได้เป็นอย่างนี้ ในปี 1903 มีคำว่า Original BENZ อยู่ในวงล้อเกียร์ ในปี 1909 เปลี่ยนเป็นชื่อเบนซ์ในช่อชัยพฤกษ์ และปีเดียวกันก็ได้ใช้สัญลักษณ์ดาวสามแฉกครั้งแรก และเป็นดาวสามแฉกในวงแหวนนับแต่ปี 1921 จนปัจจุบัน

"เวลาเห็นโลโก้เบนซ์ทีไร ฉันก็รู้สึกแปลกๆ ก็นี่มันชื่อฉันเอง ขำๆ ดี"

มาเยือนไทยคราวนี้ จูธา บอกว่า เนื่องในโอกาสพิเศษจริงๆ สำหรับการเฉลิมฉลองการเข้ามาของเบนซ์ในไทยครบ 100 ปี โดย ร.5 ทรงนำเข้ามาเป็นคันแรก ที่จริงแล้วตอนนั้นเบนซ์ก็เพิ่งเกิดขึ้นเพียงสิบกว่าปีเท่านั้นเอง

ทายาทเบนซ์เล่าว่า ตื่นเต้นมากที่ได้มาร่วมงานใหญ่ขนาดนี้ โดยเฉพาะการได้พบกับบุคคลสำคัญของไทยหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น แก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ตัวแทนรัฐบาล และตอนไปร่วมงานที่สิงคโปร์ได้รู้จักกับผู้ก่อตั้งเมอร์เซเดส เบนซ์ คลับของไทย หลายคนเอาของที่ระลึกมาให้เธอเซ็น

"ทำเหมือนเป็นแฟนคลับเลย" จูธา เล่าไป หัวเราะไป

หลังจบงานนี้แล้ว จูธาจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่เมือง Badenbaden เยอรมนี ต่อจากนั้นจะมีงานโชว์ตัวทางโทรทัศน์ เดือนสิงหาคมจะมีกิจกรรม แบธา เบนซ์ แรลลี่ (Bertha Benz Rally) ขับรถสามล้อ (ต้นตระกูลเบนซ์) เดินทางจากเมือง MannHein ไปเมือง Pforzheim ระยะทาง 100 กิโลเมตร แบธา เป็นชื่อภรรยาของคาร์ล เบนซ์ เป็นคนแรกที่ขับรถคันนี้ในเส้นทางเดียวกับที่จูธาจะขับไปเพื่อร่วมย้อนอดีต

"หลังจากนี้ฉันอยากจะเขียนเรื่องราวของเบนซ์ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของฉันนะ แต่เป็นเรื่องราวของครอบครัวฉัน ความเป็นมาของเบนซ์ตั้งแต่เริ่มแรก จนมาถึงฉัน"

ที่เยอรมนี จูธายังขับรถเบนซ์ อี 300 (ปี 1985) ของพ่อเธอเป็นพาหนะ เจ้าตัวบอกว่า มันยังใช้งานได้ดีเหมือนวันที่ผลิตออกมา คันนี้เป็นหนึ่งใน 3 คันที่เธอมีอยู่ อีกสองคันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Soehne รุ่นเดียวกันแต่ผลิตห่างกันหนึ่งปี 1926 เป็นรถของ คาร์ล เบนซ์ และอีกคันปี 1927

"ฉันไม่มีเงินซื้อรถยี่ห้ออื่นหรอก" จูธาออกตัวเมื่อถามว่า มีรถยี่ห้ออื่นอีกไหม

ลูกไม้ลูกนี้อาจเคยกระเด็นออกไปไกลจากต้นเมื่อนานมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดลูกไม้ก็กระดอนกลับมาที่เดิมอีกครั้ง อาจเป็นเพราะรู้ตัวเองว่า แท้จริงแล้วเธอคือใคร…

คึกฤทธิ์ พลเยี่ยม

 

ข้อมูลจาก bangkokbiznews.com

 
[ ส่งหน้านี้ให้เพื่อน ]                          
 


  รายการบทความ